การศึกษารูปแบบรอยแตกร้าวในคานคอนกรีตเสริมเหล็กภายใต้แรงเฉือน : กรณีศึกษาคานมีกำลังอัดคอนกรีตแตกต่างกัน

Authors

  • จิรวัฒน์ วิมุตติสุขวิริยา คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

Keywords:

คานคอนกรีตเสริมเหล็ก, รอยแตกร้าว, แรงเฉือน

Abstract

การวิบัติแบบเฉือนที่พบเห็นในคานคอนกรีตเสริมเหล็กมีสาเหตุจากคอนกรีตมีกำลังรับแรงดึงได้น้อย  โดยกำลังอัดของคอนกรีตที่ใช้ทำคานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อกำลังรับแรงเฉือน  ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงสนใจศึกษาผลของกำลังอัดคอนกรีตที่มีต่อกำลังรับแรงเฉือนและรูปแบบการแตกร้าวที่เกิดขึ้นภายใต้แรงเฉือน  จากผลการศึกษาคานตัวอย่างพบว่า คานตัวอย่าง A ที่สร้างจากคอนกรีตกำลังอัด fc' = 153 กก./ตร.ซม. สามารถต้านทานแรงเฉือนได้น้อยที่สุด  โดยคานจะเกิดรอยแตกร้าวแนวทแยงขนาดใหญ่ก่อนการวิบัติ  คานตัวอย่าง B ซึ่งสร้างจากคอนกรีตที่มีกำลังอัด fc' = 212 กก./ตร.ซม. สามารถรับน้ำหนักกดสูงสุด Pmax ได้มากกว่าคาน A ประมาณร้อยละ 14.29  คานตัวอย่าง B วิบัติแบบเฉือนอัดโดยคอนกรีตส่วนบนของคานเกิดการแตกร้าวมากและบางส่วนหลุดออก  สำหรับคานตัวอย่าง C ซึ่งสร้างจากคอนกรีตที่มีกำลังอัด fc' = 266 กก./ตร.ซม. สามารถรับน้ำหนักกดสูงสุด Pmax ได้มากกว่าคาน A ประมาณร้อยละ 28.57  โดยคานตัวอย่าง C วิบัติแบบเฉือนแนวทแยงโดยคอนกรีตส่วนบนของคานไม่ถูกอัดจนแตกแสดงว่าคอนกรีตสามารถรับแรงอัดได้  ทั้งนี้รอยแตกร้าวแนวทแยงขนาดเล็กและขนาดใหญ่ของคานตัวอย่างสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อน้ำหนักกด P มากกว่าร้อยละ 59 และร้อยละ 84 ของน้ำหนักกดสูงสุด Pmax  ตามลำดับ

Downloads

Published

2020-12-30